หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (อังกฤษ: One Tambon, One Product) หรือเรียกย่อว่า โอทอป (OTOP) เป็นโครงการกระตุ้นธุรกิจประกอบการท้องถิ่น ซึ่งมีที่มาจากแนวคิด One Village, One Product ของเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ OTOP ว่า เมื่อพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล แนวคิดโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป ที่ได้รับการออกแบบโดยคณะทำงานโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" พรรคไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2544-2549 จึงได้ถูกนำมาเป็นโครงการหลักโครงการหนึ่งของรัฐบาล โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ลักษณะเฉพาะที่ผลิตและจำหน่ายในท้องถิ่นแต่ละตำบล โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่นมาเป็นแบบอย่าง[1] โครงการโอทอปกระตุ้นให้ชุมชนหมู่บ้านพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการตลาด เลือกผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาหนึ่งชิ้นจากแต่ละตำบลมาประทับตราว่า "ผลิตภัณฑ์โอทอป" และจัดหาเวทีในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเหล่านี้ ผลิตภัณฑ์โอทอปครอบคลุมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงงานหัตถกรรม ฝ้ายและผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับแฟชั่น ของใช้ในครัวเรือนและอาหาร โดยมีโครงการนำร่องอยู่ 336 ตำบล และต้องการให้ทั้ง 7,000 ตำบลทั่วประเทศมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเด่นออกสู่ตลาดโลก นาย กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ นักวิชาการประจำคณะทำงานโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" พรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า ทางพรรคตั้งเป้าหมายที่จะสร้างโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้ตำบลต่างๆ กว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศไทย เพื่อยกระดับรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้พึ่งตนเองและเป็นตำบลที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง โดยขณะนี้มี 336 ตำบล ที่มีความพร้อมภายใต้แนวคิดโครงการนี้นาย กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ กล่าวว่า ทั้งนี้ การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายขึ้นมา 1 ชุด ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงมหาดไทย โดยลักษณะการทำงานจะไม่ใช่การที่รัฐนำเงินเข้าไปส่งเสริม แต่จะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการคิดว่าในหมู่บ้านของตนเองมีสินค้าหรือบริการ แหล่งท่องเที่ยว หรือวัฒนธรรมใดที่โดดเด่นบ้าง จากนั้นให้นำมาคัดเลือกว่าจะให้ผลิตภัณฑ์ใดเป็นผลิตภัณฑ์ของตำบล ขณะที่ฝ่ายรัฐจะช่วยเสริมทักษะด้านเทคนิค และหาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และจะใช้การค้ารูปแบบ อี-คอมเมิร์ช โดยมีเว็บไซต์ www.thaitambon.com เป็นศูนย์กลางข้อมูล นาย กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ นำเสนอว่า ในเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้หมู่บ้านต่างๆ ทำโครงการลักษณะนี้ และประสบความสำเร็จอย่างดี โดยใช้เวลาถึง 50 ปี เพราะเริ่มทำจากหมู่บ้านเล็กๆ แล้วค่อยขยายออกไปสู่ระดับประเทศ แต่ในส่วนของไทยคงใช้เวลาไม่นาน เพราะจะเริ่มต้นจากนโยบายของรัฐบาลลงไปสู่ชุมชน แต่ก็คงไม่เห็นผลชัดเจนในช่วง 1-2 ปีแรก และคงได้เห็นเป็นรูปธรรมในปีที่ 3 - 4 ของรัฐบาลชุดใหม่ สำหรับแหล่งเงินทุนจะมาจากธนาคารประชาชนที่จะจัดตั้งขึ้น และกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ที่จะมีการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหมุนเวียนในหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ตำบลได้นาย กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ กล่าวเสริมอีกว่า "การจัดทำโครงการนี้ต้องการให้ชาวบ้านได้พัฒนาภูมิปัญญาให้มีความคิดสร้างสรรค์สู่กระแสโลก และการจำหน่ายจะมีการทำการตลาดสมัยใหม่ผสมผสาน โดยจะให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างตำบลภายใต้เครือข่ายสหกรณ์ และให้จัดร้านค้าชุมชนริมถนนเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ พร้อมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชน จัดศูนย์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมในตำบล ตลอดจนเปิดร้านอาหารท้องถิ่นสำหรับแม่บ้าน และทำการตลาดเพื่อเชื่อมชุมชนชนบทและชุมชนเมือง"อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถูกคัดค้านโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน หากจะรื้อถึงรากต้องสังคายนาโครงการที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ขณะที่ฝั่งเกษตรอุตสาหกรรมหวั่นกลัวว่าจะมีการผลิตซ้ำซ้อนจนเกิดการแข่งขันกันเอง[2]